ความสำคัญและที่มาของการพัฒนาระบบการรายงานเหตุการณ์
|
สถิติการตายจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี 2547 มีประชากรตายด้วยอุบัติเหตุและการเป็นพิษ (V01-V99, W00-W99, X00-X59, Y10-Y89) ทั่วราชอาณาจักรมีอัตราต่อแสนประชากรเท่ากับ 58.9 ในภาคใต้ในปีเดียวกันมีอัตราต่อแสนประประชากรเท่ากับ 66.9ซึ่งสูงกว่าอัตราทั่วราชอาณาจักรและสูงกว่าภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีอัตราต่อแสนประชากรเท่ากับ 55.9และ 42.7 ตามลำดับ การศึกษาระบาดวิทยาของการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี พ.ศ.2547 โดยสำนักระบาดวิทยาและกรมแพทย์ทหารบก พบว่ามีเหตุการณ์ทั้งหมด 1,585 เหตุการณ์ มีผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง 1,363 คน อัตราป่วยและอัตราตาย เท่ากับ 74.2 และ 34.4 ต่อแสนประชากรตามลำดับผู้ได้รับผลกระทบที่พบ ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย วัยกลางคน เป็นชาวบ้าน มักถูกทำร้ายช่วงเวลาตอนเช้าก่อนไปทำงาน และช่วงเวลาหลังเลิกงาน และบาดเจ็บจากอาวุธปืนเป็นส่วนใหญ่ จากการศึกษาภาระโรคของการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2547 (Burden of Disease: Violence-related Injuries and Fatalities in the 3Southernmost Provinces, Thailand, 2004) โดยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข โดยค่า DALYs: Disability Adjusted Life Years เป็นเครื่องชี้วัดภาระโรคและการบาดเจ็บซึ่งจัดทำโดยองค์การอนามัยโลก (WHO, 2000) มีหน่วยวัดเป็นปีที่สูญเสียจากความเจ็บป่วยความพิการ (YLD-Year Lived with Disability) และการตายก่อนวัยอันควร (YLL-Year Life Loss due to premature death) ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า เหตุการณ์ก่อความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี พ.ศ.2547 นั้น ทำให้จำนวนปีที่สูญเสียจากความเจ็บป่วยความพิการและการตายก่อนวัยอันควร มีค่าเท่ากับ 14,260 ปี คิดเป็นร้อยละ 9.7 ของ DALYs จากการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการถูกทำร้ายและสงครามของระดับประเทศ เมื่อคำนวณเป็นอัตราต่อแสนประชากรเพื่อเปรียบเทียบ พบว่า DALYs การบาดเจ็บจากการก่อความไม่สงบฯ มีอัตราสูงมากเมื่อเทียบกับระดับประเทศ มีค่าเท่ากับ 807 DALYs ต่อแสนประชากร ซึ่งมีค่ามากกว่าอัตรา DALYs ของการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากความรุนแรงของระดับประเทศ และเมื่อเทียบกับโรคอื่นๆ ในระดับประเทศแล้ว พบว่ามีค่าสูงเป็นอันดับที่ 4 รองจากโรคเอดส์ (HIV/AIDS) อุบัติเหตุจราจร (Road Traffic Injury) และโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้รวบรวมฐานข้อมูลระยะเวลา 55 เดือน ตั้งแต่ พ.ศ. 2547–2549 พบว่าเกิดเหตุการณ์ทั้งหมด 4,483 ครั้ง พื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์มากที่สุดคือ จังหวัดนราธิวาส (ร้อยละ 38.6) ปัตตานี ยะลา และสงขลา ตามลำดับ เดือนที่เกิดเหตุการณ์มากมี 3 ช่วง มี.ค.-เม.ย. มิ.ย. และ ต.ค.-พ.ย.ช่วงเวลา: ช่วงเช้า (06:00-08:00 น.) และ ค่ำ (19:00-20:00 น.) ร.อ.นพ.วารินทร์ปงกันคำ ร.น. และคณะ ได้รวบรวมข้อมูลทุติยภูมิของการบาดเจ็บในทหารระหว่างปี 2547 ที่มีอยู่ทั้งหมดและนำมาวิเคราะห์พบว่า ในปี 2547 จากเหตุการณ์การก่อการณ์ร้ายทั้งหมด 1,878 ครั้ง มีข้าราชการทหารและตำรวจได้รับบาดเจ็บรวม 235 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 71ราย โดยมีรายละเอียดการบาดเจ็บและการเสียชีวิตจำแนกตามชั้นยศดังตารางที่ 4 สำหรับการกระจายของการบาดเจ็บและเสียชีวิตตามเวลารายเดือนพบว่าพบการกระจายของผู้บาดเจ็บดังแผนภูมิที่ 1 เมื่อพิจารณาตามเวลาของวันที่ข้าราชการทหารและตำรวจเสียชีวิตจะพบว่าช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ที่พบได้บ่อยได้แก่เวลา 06:00–10:00 และ 19:00–20:00 แผนภูมิที่ 2 เมื่อนำข้อมูลการเกิดเหตุการณ์ การบาดเจ็บและการตายทั้งหมดมาประมวลผลด้วยระบบ สารสนเทศ GIS ทำให้เห็นภาพการกระจายของสถานการณ์การก่อการร้ายได้ดียิ่งขึ้นดังภาพ จากสภาพปัญหาดังกล่าว การวิจัยเพื่อค้นหากระบวนการของการพัฒนาประสิทธิภาพของการให้บริการทางการแพทย์แก่กำลังพลในพื้นที่เสี่ยงนี้จึงมีความสำคัญยิ่ง ได้มีหลักฐานยืนยันถึงความสำเร็จในการเพิ่มประสิทธิภาพดังกล่าวโดยกองทัพสหรัฐที่ปฏิบัติการในพื้นที่ประเทศอิรักในปัจจุบัน โดยกองทัพสหรัฐได้ริเริ่มให้มีการใช้ระบบการจัดการการบาดเจ็บในสนามรบ (Trauma System) (14) โดยการใช้ระบบการรายงานการบาดเจ็บ (Joint Theater Trauma Registry) เป็นโครงการการเก็บข้อมูลและนำข้อมูลดังกล่าวมาพัฒนาระบบการจัดการให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น การดำเนินการพัฒนาแบบใช้ข้อมูลเป็นหลักดังกล่าวทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ที่ได้รับการบาดเจ็บลดลงเหลือเพียงร้อยละ 8.8 ในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าระบบการรายงานการได้รับการบาดเจ็บของกำลังพลที่มีความถูกต้องครบถ้วนและทันเวลา จะเป็นแกนสำคัญในการป้อนข้อมูลของประสิทธิภาพของระบบการให้บริการทางการแพทย์ในพื้นที่การรบในปัจจุบัน ซึ่งนอกจากจะเป็นการแสดงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนแล้ว ยังสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวเป็นตัวชี้วัดถึงประสิทธิภาพของระบบการจัดการได้อย่างดีอีกด้วย จากปัญหาดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการพัฒนาระบบการรายงานการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสามารถเห็นข้อมูลได้อย่างทันเวลาและสามารถนำข้อมูลต่างๆไปใช้ในการวิเคราะห์ หรือนำไปปรับแผนเพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้สามารถลดอัตราการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ |